พัทลุง

เมืองแห่งความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ABOUT PHATTHALUNG CITY

จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานจากการค้นพบขวานหินขัดในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-14) บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมชนที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียในด้านพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีหลักฐานค้นพบ เช่น พระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากเป็นรูปพระโพธิสัตว์ รูปเทวดาโดยค้นพบบริเวณถ้ำคูหาสวรรค์ และถ้ำเขาอกทะลุ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี ซึ่งนับว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ ในสมัยนั้นเมืองพัทลุงมักจะประสบปัญหาการโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโจรสลัดอาแจะอารู และยุยงคตนะ ได้โจมตีเผาทำลายสร้างความเสียหายแก่เมืองพัทลุงถึงสองครั้ง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอยู่เสมอ และก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวเมืองพัทลุงเป็นนักต่อสู้ที่เข้มแข็ง ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้ง และได้ยกขึ้นเป็นเมืองชั้นโท ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำสำคัญในการสร้างความเจริญ และความมั่นคงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน อาทิเช่น พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว) พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทโรจนวงศ์) ได้ป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น เมื่อสงครามเก้าทัพ (พ.ศ.2328-2329) พระมหาช่วย วัดป่าลิไลย์ ได้นำชาวพัทลุงต่อสู้ป้องกันการรุกรานของพม่าจนได้รับความดีความชอบโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาช่วยทุกขราษฎร์ช่วยราชการเมืองพัทลุง

นอกจากสงครามกับพม่าแล้ว ชาวพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ในหัวเมืองภาคใต้ เพราะปรากฏอยู่เสมอว่าทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุงพร้อมด้วยเสบียงอาหารไปทำสงครามปราบปรามกบฏในหัวเมืองมาลายู เช่น กบฏไทรบุรี พ.ศ.2373 และ พ.ศ.2381 ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุงทางด้านการเมือง การปกครองและแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำในอดีตเป็นอย่างดี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2437 และได้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น เมื่อ พ.ศ.2439 ประกอบด้วยเมืองต่างๆ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง 7 ที่เป็นเมืองปัตตานีเดิม สำหรับเมืองพัทลุงแบ่งการปกครองเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อำเภออุดร อำเภอทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ จนกระทั่ง พ.ศ.2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพัทลุงมาอยู่ที่บ้านวังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์ในปัจจุบัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสะดวกในการติดต่อกับเมืองต่าง ๆ

วิสัยทัศน์เมือง

เมืองมรดกโลกทางการเกษตร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายทางระบบนิเวศ เมืองแห่งภูมิปัญญาและวัฒนธรรม นวัตกรรมที่ยั่งยืน

เป้าหมายเมือง

จังหวัดพัทลุงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนา Phatthalung Smart City (พ.ศ.2566-2570) “พัทลุงเมืองน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดี มีอาหารปลอดภัย และแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่” โดยการพัฒนาจังหวัดพัทลุงเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ทั้งเทศกาลวันสำคัญ อาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ปักษ์ใต้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจภาคใต้ ประชาชนมีอาชีพและรายได้ ด้วยความหลากหลายทางระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ จนที่มาของนิยาม เขา ป่า นา เล เกิดเป็นการท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงการเกษตร การท่องเที่ยวทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม รองรับการเป็นเมืองมรดกโลกทางการเกษตรที่ยั่งยืน

บริบทเมืองและความต้องการของเมือง

เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อใช้แก้ปัญหาในพื้นที่และนำไปใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ ความมั่นคง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับบุคลากร และผู้รับบริการให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทการพัฒนาจังหวัดและเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ประเภทเมืองอัจฉริยะ

บทสรุปผู้บริหาร

Loading