รายงานข้อมูลภายในของหน่วยงาน

รายงานข้อมูลภายในของหน่วยงาน

ส่วนที่ 1 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
1. ด้านกายภาพ
1.1 ลักษณะที่ตั้ง
เทศบาลตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สายอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงราย ติดกับชายแดนไทยกับประเทศเมียนมา อยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 63 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังต่อไปนี้

อาณาเขตด้านทิศเหนือ
ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาย ตรงทางแยกลำเหมืองแดงเป็นเส้นตรงไปทางทิศเหนือถึงกึ่งกลางแม่น้ำสาย เส้นตรงแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศเมียนมา และเลียบไปตามเส้นแบ่งเส้นแบ่งเขตขอประเทศไทยกับประเทศเมียนมา ไปทางทิศตะวันออก ถึงหลักเขตที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่สายฝั่งใต้ริมคลองส่งน้ำชลประทานฝั่งตะวันออก

อาณาเขตด้านทิศตะวันออก
จากหลักเขตที่ 2 เลียบริมคลองส่งน้ำชลประทานฝั่งตะวันออก ไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองส่งน้ำชลประทาน ฝั่งตะวันออก ห่างจากศูนย์กลางทาง ร.พ.ช. 11,032 สาย บ้านป่ายาง-บ้านทุ่งเกลี้ยงทางทิศใต้ระยะ 200 เมตร (ติดต่อกับบ้านป่ายาง หมู่ 6 ตำบลแม่สาย)

อาณาเขตด้านทิศใต้
จากหลักเขตที่ 3 เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกถึงหลักเขตที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 110 ตอนเชียงราย – แม่จัน – แม่สาย ฟากตะวันตกตรง กม. 888.300 (ติดต่อกับหมู่บ้านป่ายางใหม่ หมู่ที่ 4 ตำบลเวียงพางคำ) จากหลักเขตที่ 4 เป็นเส้นตั้งฉากกับศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 110 ตอนเชียงราย – แม่จัน – แม่สาย ไปทางทิศตะวันตก ถึงหลักเขตที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ

อาณาเขตด้านตะวันตก
จากหลักเขตที่ 5 เลียบแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติไปทางทิศเหนือไปบรรจบหลักเขตที่ 1 (ติดต่อกับเขตตำบลเวียงพางคำ)

1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศ เป็นลักษณะที่ราบเชิงเขา มีความลาดชันเล็กน้อยจากตะวันตกไปตะวันออก ด้าน
ตะวันตกมีทิวเขาถนนธงชัยทอดจากประเทศสหภาพเมียนมาลงมาทางใต้ ด้านทิศตะวันออกของเมืองเป็นที่ราบ เหมาะทำการเกษตร มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำสาย ทางด้านทิศเหนือกั้นชายแดนกับประเทศเมียนมา เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงเชียงราย ซึ่งอยู่ในระดับความสูงเฉลี่ย 378 เมตร

1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
– ลักษณะอากาศ ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำฤดูกาล 2 ชนิดคือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว ทำให้จังหวัดเชียงรายมีอากาศหนาวเย็นและแห้งทั่วไป และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดพามวลอากาศชื้นจากทะเลและมหาสมุทรอินเดียปกคลุมประเทศไทยในช่วงฤดูฝน ทำให้จังหวัดเชียงรายมีฝนตกทั่วไx

ฤดูกาล พิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน เริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อนอบ
อ้าวทั่วไปโดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี
ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่มรสุม
ตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย อากาศจะเริ่มชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนสิงหาคม
ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มรสุม
ตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้ง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุด คือ เดือนมกราคม

1.4 ลักษณะของดิน
การจำแนกดิน Fine-silty, mixed, semiactive, isohyperthermic Aeric Endoaqualfs
การกำเนิด เกิดจากตะกอนน้ำพาบริเวณส่วนต่ำของสันดินริมน้ำหรือตะพักลำน้ำ
สภาพพื้นที่ ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ ความลาดชัน 0-2 %
การระบายน้ำ ค่อนข้างเลว
การไหลบ่าของน้ำบนผิวดิน ช้า
การซึมผ่านได้ของน้ำ ช้า
พืชพรรณธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ที่ดิน นาข้าว อาจใช้ปลูกพืชไร่เช่น ข้าวโพด ถั่ว หรือ พืชผัก ก่อนหรือหลังปลูกข้าว
การแพร่กระจาย พบมากในภาคเหนือ บริเวณส่วนต่ำของสันดินริมน้ำหรือตะพักลำน้ำ
การจัดเรียงชั้นดิน Apg-Btg
ลักษณะและสมบัติดิน เป็นดินลึกมาก ดินบนเป็นดินร่วนปนทรายแป้งหรือดินร่วนเหนียวปน
ทรายแป้ง สีเทาเข้มหรือสีน้ำตาลปนเทาเข้ม มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีน้ำตาลแก่ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดเล็กน้อย (pH 6.0-6.5) ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง สีน้ำตาลปนเทา และมีสีเทาในตอนล่าง มีจุดประสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีน้ำตาลแก่ ปฏิกิริยาดินเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นด่างปานกลาง (pH 6.5-8.0)
ข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ
ข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ ปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุ และเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปุ๋ย
อินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ในพื้นที่ชลประทาน นอกฤดูทำนาอาจปลูกพืชไร่หรือพืชผัก ซึ่งจะต้องยกร่องและปรับสภาพดินให้ร่วนซุยและระบายน้ำดีขึ้น โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ

Loading